พัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของที่ระลึกประจำจังหวัดนครนายก : มะปรางริ้วประดิษฐ์จากสบู่

Date
ISBN
Journal Title
Journal ISSN
Volume Title
Resource Type
Publisher
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
Journal Title
พัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของที่ระลึกประจำจังหวัดนครนายก : มะปรางริ้วประดิษฐ์จากสบู่
Authors
Recommended by
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความต้องการรูปแบบผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของที่ระลึก มะปรางริ้วประดิษฐ์จากสบู่ เพื่อออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของที่ระลึก มะปรางริ้วประดิษฐ์จากสบู่และเพื่อศึกษาแนวทางในการทำการตลาด เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถาม ประชากรที่ใช้ในการศึกษา คือ ผู้นำและตัวแทนในชุมชนหมู่บ้านพรหมพชร อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก จำนวน 10 คน กลุ่มตัวอย่างได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแกะสลักผัก ผลไม้และสบู่ จำนวน 12 คน ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ในจังหวัดนครนายก จำนวน 15 คน และกลุ่มตัวอย่างในจังหวัดนครนายก ได้จากการสุ่มตัวอย่างโดยบังเอิญ จำนวน 80 คน การวิเคราะห์ข้อมูลจากการสัมภาษณ์และแบบคำถามในการสนทนากลุ่ม ผู้วิจัยได้นำมาวิเคราะห์จัดเรียงแต่ละประเด็นแล้วเขียนเป็นความเรียง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เพื่อใช้อธิบายผลการศึกษา พบว่า ชุมชนหมู่บ้านพรหมพชร มีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด ต้องการสบู่ทำความสะอาดร่างกาย ทั้งสบู่ก้อน สบู่เหลวและครีมอาบน้ำเพื่อเป็นทางเลือกให้กับคนในชุมชน สำหรับสบู่ก้อนผสมสารสกัดจากเนื้อมะปรางต้องการทั้งสีขุ่นและสีใส รูปร่างเหมือนลูกมะปรางเพราะดูเหมือนมะปรางจริง ๆ สีของสบู่ก้อนควรเป็นสีใกล้เคียงกับสีของมะปรางที่สุก คือ สีเหลืองอมส้ม มีกลิ่นที่หอมเหมือนสบู่หอมอื่น ๆ ให้มีกลิ่นอ่อน ๆ มีลวดลายเป็นร่องเป็นริ้วสวยงามบนก้อนสบู่ เพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแกะสลักผัก ผลไม้และสบู่ให้การยอมรับสบู่ผสมสารสะกัดจากเนื้อมะปรางชนิด S1C2 และชนิด S2C2 ทั้งที่เป็นเนื้อสีขุ่นและเนื้อสีใส ที่มีสีใกล้เคียงสีของมะปรางมากที่สุด สำหรับลายริ้วที่เหมาะสมกับการแกะสลักเป็นมะปรางริ้วประดิษฐ์ 3 ลำดับแรกคือ ลายริ้วตรง ลายริ้วเกลียวและลายริ้วใบไม้ ส่วนผู้เข้าอบรมเชิงปฏิบัติการทำสบู่และการทำมะปรางริ้วประดิษฐ์จากสบู่ผสมสารสกัดจากเนื้อมะปราง มีความคิดเห็นและให้ความสำคัญต่อ ด้านการใช้วัสดุท้องถิ่นในระดับมากที่สุด รองลงมาคือด้านการดำรงลักษณะของศิลปหัตถกรรม ด้านรูปลักษณ์และการใช้ประโยชน์และด้านความสวยงาม ตามลำดับ การศึกษาแนวทางในการทำการตลาด ในการจัดจำหน่ายมะปรางริ้วประดิษฐ์จากสบู่ จากการสนทนากลุ่มผู้ผลิต ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์หัตถกรรมเกี่ยวกับสบู่ สบู่สมุนไพรและเครื่องสำอางค์ในจังหวัดนครนายก พบว่า ด้านผลิตภัณฑ์มะปรางริ้วประดิษฐ์จากสบู่เป็นแนวความคิดที่ดีและทำได้สวยงาม ควรทำเป็นอัตลักษณ์ของนครนายกให้ได้ ควรทำทั้ง 2 แบบ คือมะปรางที่ยังไม่ปอกริ้วและมะปรางที่ปอกริ้ว ทั้งเนื้อสบู่สีขุ่นและเนื้อสบู่สีใส กลิ่นของสบู่ควรทำให้มีกลิ่นหอมและให้หอมอยู่นาน ควรให้ได้กลิ่นที่ใกล้เคียงมะปรางมากที่สุด ด้านบรรจุภัณฑ์ควรทำกล่องบรรจุภัณฑ์โดยเปิดหน้าต่างมีแผ่นพลาสติกใสให้เห็นผลิตภัณฑ์และหาวิธีปิดช่องหน้าต่างเพื่อจะช่วยให้มีราคาสูงและช่วยให้สีของผลิตภัณฑ์ไม่ซีด ด้านราคา มะปรางริ้วประดิษฐ์จากสบู่เป็นงานฝีมือที่ประดิษฐ์ทีละชิ้นทำรูปร่างขึ้นมาเหมือนรูปร่างมะปรางจริงในขนาดน้ำหนัก 50 กรัม ควรจำหน่ายในราคาที่สูงกว่าสบู่อื่นๆ ในราคาก้อนละประมาณ 50 บาท ด้านการจัดจำหน่าย จังหวัดนครนายกมีกลุ่มหัตถกรรมในอำเภอปากพลีคือกลุ่มหัตถกรรมไทยพวน เป็นกลุ่มที่ได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานวัฒนธรรมและหน่วยงานการท่องเที่ยวของจังหวัด กลุ่มที่ผลิตมะปรางริ้วประดิษฐ์ซึ่งถือเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมหนึ่งของไทยควรจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มหัตถกรรมไทยพวนจังหวัดนครนายก โดยจัดให้เป็นศูนย์การเรียนรู้มีการสาธิตการแกะสลักมะปรางริ้วประดิษฐ์จากสบู่ให้นักท่องเที่ยวได้ชมขั้นตอนการทำที่ต้องประณีตและสวยงาม พร้อมจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์มะปรางริ้วประดิษฐ์จากสบู่จะได้ราคาที่สูงขึ้นและจัดวางจำหน่ายในร้านนารายณ์ภัณฑ์และร้านต่าง ๆ ในสนามบินได้ซึ่งส่วนมากจะจำหน่ายให้กับชาวต่างชาติ เป็นการเผยแพร่ผลงานฝีมือทางวัฒนธรรมไทยที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยได้อีกทางหนึ่ง