ตัวแบบการพัฒนานโยบายการจัดการศึกษาปฐมวัยสำหรับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อการสร้างความยุติธรรมทางสังคม กรณีศึกษา พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตากและจังหวัดตราด

Date
ISBN
Journal Title
Journal ISSN
Volume Title
Resource Type
Publisher
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
Journal Title
ตัวแบบการพัฒนานโยบายการจัดการศึกษาปฐมวัยสำหรับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อการสร้างความยุติธรรมทางสังคม กรณีศึกษา พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตากและจังหวัดตราด
Recommended by
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทพื้นที่และผลกระทบของการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตากและจังหวัดตราด ศึกษาสถานภาพปัจจุบันและแนวทางการพัฒนานโยบายการจัดการศึกษาปฐมวัยสำหรับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ และตัวแบบการพัฒนานโยบายการจัดการศึกษาปฐมวัยสำหรับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อการสร้างความยุติธรรมทางสังคม เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตากและจังหวัดตราด โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้มีบทบาท อำนาจหน้าที่ หรือประสบการณ์เกี่ยวข้องกับนโยบายการจัดการศึกษาปฐมวัยสำหรับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ หรือผู้ให้สิทธิด้านการศึกษาแก่เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ การวิจัยนี้ใช้เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม ได้แก่ แบบสัมภาษณ์และแบบสังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วม และใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ผลการวิจัย ผลการวิจัยพบว่า 1. บริบทพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตากและจังหวัดตราด เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษพื้นที่ชายแดนที่อยู่ในระยะการพัฒนาช่วงเวลาเดียวกัน เป็นพื้นที่มีศักยภาพด้านการค้าชายแดน อุตสาหกรรมการบริการและการท่องเที่ยว เกษตรกรรม และศูนย์กลางขนส่งเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้แก่ แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของประชากรแฝงกลุ่มแรงงานต่างด้าว ปัญหาสังคม อาชญากรรม และยาเสพติด ปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหาความยุติธรรมจากการพัฒนา 2. สถานภาพนโยบายการจัดการศึกษาปฐมวัยสำหรับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตากมีเด็กปฐมวัยกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยและกลุ่มแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตราดมีเด็กปฐมวัยกลุ่มแรงงานต่างด้าว ทั้งสองพื้นที่ดำเนินนโยบายการจัดการศึกษาปฐมวัยตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทย รวมถึงทิศทางการพัฒนาท้องถิ่น สำหรับการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองมีส่วนร่วม 5 ระดับ ได้แก่ การรับรู้ข้อมูล การปรึกษาหารือ การมีบทบาทร่วมกับสถานศึกษา การสร้างความร่วมมือโดยเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการพัฒนาการศึกษา และระดับการมีอำนาจตัดสินใจในนโยบายโดยมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารท้องถิ่น ผู้บริหารการศึกษาท้องถิ่น และผู้นำชุมชนแบบทางการ ขณะที่กลุ่มแรงงานต่างด้าวมีส่วนร่วมในนโยบายเพียง 3 ระดับ คือ การรับรู้ข้อมูล การปรึกษาหารือ และการมีบทบาทร่วมกับสถานศึกษา ส่วนภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการสนับสนุนทุนการศึกษาและการบริจาค สำหรับเนื้อหานโยบาย มีการจัดการศึกษาแก่เด็กปฐมวัยกลุ่มชาติพันธุ์ตามหลักความเสมอภาคของโอกาสและการเข้าถึงการศึกษา หลักสิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม และเมตตาธรรม และใช้หลักสูตรแกนกลางกับหลักสูตรท้องถิ่นในการจัดการเรียนการสอน ปัญหาที่ประสบในปัจจุบัน ได้แก่ ปัญหาด้านบริบทของพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อการจัดการศึกษา ปัญหานโยบายจากส่วนกลางขาดวิสัยทัศน์การพัฒนาที่ชัดเจน ขาดความต่อเนื่อง และขาดนโยบายการพัฒนาระดับพื้นที่ของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านของการจัดตั้งกลไกรับผิดชอบ ทั้งคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและคณะกรรมการศึกษาธิการ สำหรับปัญหาด้านความยุติธรรมทางสังคมด้านการศึกษา ได้แก่ ความเสมอภาคของโอกาส การเข้าถึง และคุณภาพการศึกษา ที่ยังไม่ครอบคลุมถึงเด็กชนเผ่าพื้นที่เมืองที่อาศัยบนพื้นที่สูง พื้นที่ห่างไกล เด็กต่างด้าวไร้สถานะหรือไร้รหัส และเด็กจากครอบครัวยากจนที่สุดในบรรดาครอบครัวกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยกัน และความเป็นประชาธิปไตยเนื่องจากผู้ปกครองกลุ่มชาติพันธุ์บางส่วนยังมีข้อจำกัดในการมีส่วนร่วมการจัดการศึกษาร่วมกับภาครัฐ โดยกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองมีข้อจำกัดด้านภาษาการสื่อสาร ขาดการส่งเสริมศักยภาพและการกล้าแสดงออก สถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว ส่วนกลุ่มแรงงานต่างด้าวมีข้อจำกัดด้านภาษาการสื่อสารและความเป็นบุคคลต่างด้าวซึ่งมีผลต่อความมั่นคงภายในของประเทศไทย 3. แนวทางการพัฒนานโยบายการจัดการศึกษาปฐมวัยสำหรับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ 3.1 การพัฒนากระบวนการนโยบาย ประกอบด้วย 1) ความสำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนานโยบาย โดยการจัดการศึกษาให้สอดคล้องตามหลักสิทธิเด็ก สอดคล้องกับบริบทพื้นที่และทิศทางการพัฒนา การเตรียมความพร้อมทรัพยากรมนุษย์สำหรับพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ การกระจายอำนาจทางการศึกษา การพัฒนานโยบายภาพรวมของการจัดการศึกษาระดับพื้นที่และเป็นนโยบายระยะยาว มีวิสัยทัศน์และแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจน เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตากมีข้อเสนอเพิ่มเติมให้จัดทำนโยบายการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยเป็นนโยบายเฉพาะด้านเพื่อประสิทธิภาพและคุณภาพของการศึกษา เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ และ 2) การสร้างการมีส่วนร่วมในนโยบาย ควรสนับสนุนให้กลุ่มชาติพันธุ์พัฒนาศักยภาพตนเองและการเป็นผู้นำชุมชนท้องถิ่นเพื่อเข้าร่วมในนโยบายการจัดการศึกษาให้มากขึ้น ควรส่งเสริมให้กลุ่มแรงงานต่างด้าวรวมกลุ่มกันในรูปแบบคณะกรรมการกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่มีการจัดตั้งกันเอง และมีตัวแทนมาประสานกับภาครัฐและสถานศึกษาเพื่อการจัดการศึกษาของบุตรหลาน ควรส่งเสริมภาคเอกชนมีส่วนร่วมสนับสนุนการศึกษาท้องถิ่นในรูปแบบกองทุน และมีคณะกรรมการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ ตลอดทั้งควรส่งเสริมบทบาทขององค์กรพัฒนาเอกชนและนักวิชาการให้มีบทบาทสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาท้องถิ่นในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษให้มากขึ้น 3.2 การพัฒนาเนื้อหานโยบาย ประกอบด้วย 1) การสร้างความเสมอภาคของโอกาส การเข้าถึง และคุณภาพการศึกษา โดยภาครัฐส่วนกลางควรจัดสรรงบประมาณสำหรับขยายโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมสนับสนุนการจัดการศึกษาในรูปแบบกองทุนและกลไกร่วมภาคีพัฒนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของการศึกษา การพัฒนาคุณภาพการศึกษาควรเน้นให้เด็กเป็นคนดี คนเก่ง มีจิตบริการและจิตสาธารณะ มีทักษะด้านภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาประเทศเพื่อนบ้าน ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาอินเดีย รวมทั้งปลูกฝังให้เด็กต่างด้าวมีความรู้สึกและทัศนคติที่ดีต่อสังคมไทย เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย และเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตัวแบบการพัฒนานโยบายการจัดการศึกษาปฐมวัยสำหรับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อการสร้างความยุติธรรมทางสังคม เป็นการนำตัวแบบนโยบายการพัฒนานโยบายมาปรับใช้ ได้แก่ การพัฒนากระบวนการนโยบาย การพัฒนาเนื้อหานโยบาย เป้าหมายการพัฒนานโยบายเพื่อการสร้างความยุติธรรมทางสังคม และความเป็นไปได้หรือแนวทางการนำตัวแบบการพัฒนานโยบายไปปฏิบัติ