การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือภาครัฐ-ภาคประชาสังคมเพื่อการจัดการชุมชนประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน กรณีศึกษา ชุมชนประมงพื้นบ้านอ่าวอุดม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

dc.contributor.authorบูชิตา สังข์แก้ว
dc.contributor.authorดนุสรณ์ กาญจนวงศ์
dc.date.accessioned2025-05-06T07:02:40Z
dc.date.available2025-05-06T07:02:40Z
dc.description.abstractการวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและแนวทางการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือภาครัฐ-ภาคประชาสังคมสำหรับการจัดการชุมชนประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน กรณีศึกษา ชุมชนประมงพื้นบ้านอ่าวอุดม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และเพื่อสังเคราะห์ผลลัพธ์การเรียนรู้ ด้านความรู้และทักษะทางปัญญาของนักศึกษาด้วยการมีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัยชุมชนประมงพื้นบ้านอ่าวอุดม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่ม/องค์กรภาคประชาสังคมผู้มีบทบาทเกี่ยวข้องกับชุมชนประมงพื้นบ้านอ่าวอุดม การวิจัยนี้ใช้เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม ได้แก่ แบบสัมภาษณ์แบบเจาะลึกรายบุคคล แบบสนทนากลุ่ม และแบบสังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วม และใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ผลการวิจัย โดยนักศึกษามีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัย ในบทบาทหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลเอกสารในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ การทบทวนวรรณกรรม เอกสารของหน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และสังเคราะห์ประเด็นที่ได้จากข้อมูลเอกสารเรียบเรียงข้อมูลเอกสารอย่างเป็นระบบ และร่วมสะท้อนผลการเรียนรู้จากกระบวนการวิจัย ผลการวิจัยพบว่า 1. สภาพปัญหาของเครือข่ายความร่วมมือภาครัฐ-ภาคประชาสังคมสำหรับการจัดการชุมชนประมงพื้นบ้านอ่าวอุดม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ได้แก่ 1.1 รูปแบบเครือข่ายแบบทางการและกึ่งทางการประสบปัญหาความไม่ต่อเนื่องและเพียงพอของกิจกรรมเครือข่ายที่จะมีผลต่อการพัฒนาอาชีพประมงพื้นบ้านและการจัดการทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน ความไม่สมดุลของสัดส่วนตัวแทนภาคประชาสังคมกับภาครัฐในกลไกเครือข่าย โดยภาคประชาสังคมมีสัดส่วนน้อยกว่าภาครัฐมาก องค์ประกอบสมาชิกเครือข่ายไม่สอดคล้องกับบริบท และข้อเสนอของภาคประชาสังคมได้รับการปฏิบัติอย่างล่าช้าจากกระบวนการงานราชการ 1.2 นโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประสบปัญหานโยบายและกฎหมายไม่สอดคล้องกับบริบทและมาจากการกำหนดของภาครัฐส่วนกลาง ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน และประชาสังคม นอกจากนี้ นโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชุมชนประมงพื้นบ้านและการจัดการทรัพยากรทางทะเลมีจำนวนมากและทับซ้อนกันหลายหน่วยงาน ขาดการบูรณาการนโยบายและกฎหมายให้มีความเป็นเอกภาพและประสิทธิภาพในการบังคับใช้ รวมทั้งภาษากฎหมายมีลักษณะเฉพาะทางเทคนิคเป็นภาษาที่ชาวประมงพื้นบ้านเข้าใจยากและสับสนในทางปฏิบัติ 1.3 การแลกเปลี่ยนทรัพยากรภายในเครือข่าย ประสบปัญหาด้านความไม่เพียงและเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่โปร่งใส โดยเฉพาะข้อมูลโครงการ/กิจกรรมภาครัฐหรือภาคเอกชนที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมทางทะเล ความรู้ท้องถิ่นของชาวประมงพื้นบ้านยังไม่ได้รับการสนับสนุนการนำไปใช้ประโยชน์สำหรับภาครัฐมากนัก และปัญหาสำคัญคือปัญหาด้านทรัพยากรอาชีพประมงพื้นบ้าน โดยเฉพาะการลดลงของพื้นที่ทำกินในทะเลชายฝั่ง และการลดลงของปริมาณ/ชนิดสัตว์น้ำ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและการจัดการประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน รวมทั้งปัญหาด้านการสนับสนุนทรัพยากรการจัดการทะเลอย่างยั่งยืนมีไม่เพียงพอ ทั้งในด้านกิจกรรมที่ต่อเนื่อง งบประมาณ กองทุนชุมชนประมงพื้นบ้าน และการสนับสนุนจากภาครัฐต่อการประกาศเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำหรือเขตห้ามจับสัตว์น้ำ ซึ่งข้อเสนอหรือความต้องการของภาคประชาสังคมเพื่อการอนุรักษ์สัตว์น้ำอย่างยั่งยืน 2. แนวทางการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือภาครัฐ-ภาคประชาสังคมสำหรับการจัดการชุมชนประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน กรณีศึกษา ชุมชนประมงพื้นบ้านอ่าวอุดม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ได้แก่ 2.1 การพัฒนารูปแบบเครือข่ายแบบทางการและกึ่งทางการ คือ การสนับสนุนให้เกิดความร่วมมืออย่างต่อเนื่องและเพียงพอ มีการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ และติดตามประเมินผลในประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพประมงพื้นบ้านได้ ควรปรับสัดส่วนตัวแทนภาคประชาสังคมกับภาครัฐให้มีความสมดุลมากขึ้นในกลไกเครือข่าย ควรปรับองค์ประกอบสมาชิกเครือข่ายให้สอดคล้องกับบริบทจังหวัดชลบุรี และข้อเสนอของภาคประชาสังคมได้รับการปฏิบัติอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากกระบวนการงานราชการ 2.2 การพัฒนานโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ควรเปิดโอกาสให้ประชาชน ชุมชน ประชาสังคม มีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวกับอาชีพประมงพื้นบ้านและการจัดการทะเลชายฝั่ง ควรเป็นนโยบายและกฎหมายที่สอดคล้องกับบริบท ควรมีการบูรณาการนโยบายและกฎหมายให้มีเอกภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนควรมีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลด้านนโยบายและกฎหมายการประมงพื้นบ้านโดยตรง ควรมีการเผยแพร่ข้อมูลนโยบายและกฎหมายให้ชาวประมงพื้นบ้านรับรู้อย่างแพร่หลายและครอบคลุม โดยจัดทำสื่อที่มีภาษากฎหมายสำหรับชาวประมงพื้นบ้าน ควรมีการปรับปรุงพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560) ในมาตราที่เป็นข้อจำกัดต่ออาชีพประมงพื้นบ้าน ส่งเสริมพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ให้มีประสิทธิภาพในการบังใช้ โดยเฉพาะมาตรการเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน สนับสนุนการบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. (ฉบับภาคประชาสังคม) เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 2.3 การพัฒนาการแลกเปลี่ยนทรัพยากรภายในเครือข่าย ควรเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร อย่างทั่วถึง โปร่งใส โดยเฉพาะข้อมูลโครงการ/กิจกรรมภาครัฐหรือภาคเอกชนที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมทางทะเล และเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการ ควรสนับสนุนความรู้ท้องถิ่นของชาวประมงพื้นบ้านให้ได้รับการสนับสนุนการนำไปใช้ประโยชน์สำหรับภาครัฐมากขึ้น ควรส่งเสริมและสนับสนุนทรัพยากรอาชีพประมงพื้นบ้าน โดยเฉพาะพื้นที่ทำกินในทะเลชายฝั่ง และแนวทางการเพิ่มปริมาณ/ชนิดสัตว์น้ำ ควรสนับสนุนทรัพยากรการจัดการทะเลอย่างยั่งยืนอย่างเพียงพอ ทั้งในด้านกิจกรรม งบประมาณ กองทุนชุมชนประมงพื้นบ้าน และการประกาศเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำหรือเขตห้ามจับสัตว์น้ำ ตามข้อเสนอหรือความต้องการของภาคประชาสังคมและชุมชนเพื่อการอนุรักษ์สัตว์น้ำอย่างยั่งยืน 3. ผลลัพธ์การเรียนรู้ด้านความรู้และทักษะทางปัญญาของนักศึกษาด้วยการมีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัยชุมชนประมงพื้นบ้านอ่าวอุดม ได้แก่ 3.1 การเรียนรู้ระดับกลุ่ม นักศึกษาส่วนใหญ่มีการเรียนรู้ในระดับดีมาก กล่าวคือ มีความรู้ความเข้าใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประชาสังคม สามารถอธิบายความรู้ความเข้าใจนั้นได้อย่างเป็นระบบ มีทักษะการวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูลความรู้จากแหล่งค้นคว้า ทักษะการสืบค้นข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างถูกต้อง ผลงานมีการปรับปรุงแก้ไข 1 ครั้ง หรือไม่มีเลย และ 3.2 การเรียรู้ระดับรายบุคคล นักศึกษาส่วนใหญ่มีการเรียนรู้ในระดับดีมาก กล่าวคือ มีความรู้ความเข้าใจบทบาทของภาคประชาสังคมกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ความสัมพันธ์ระหว่างภาคประชาสังคมกับภาครัฐและชุมชน สามารถอธิบายความรู้ความเข้าใจนั้นได้อย่างเป็นระบบ มีทักษะวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุของปรากฎการณ์ เสนอแนวทางการพัฒนาเครือข่ายได้อย่างสอดคล้องกับปรากฎการณ์ สามารถวิเคราะห์และอธิบายความแตกต่างบทบาทของภาคประชาสังคมกับภาครัฐที่มีต่อการพัฒนาชุมชนได้อย่างชัดเจน
dc.identifier.urihttps://repository.dusit.ac.th/handle/123456789/6570
dc.publisherมหาวิทยาลัยสวนดุสิต
dc.subjectการประมง
dc.subjectเครือข่ายชุมชน
dc.titleการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือภาครัฐ-ภาคประชาสังคมเพื่อการจัดการชุมชนประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน กรณีศึกษา ชุมชนประมงพื้นบ้านอ่าวอุดม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
mods.location.urlhttps://ebooks.dusit.ac.th/detail.php?recid=3611
Files
Collections