คู่มือสำรับอาหารตามหลักโภชนาการปลอดภัย สมวัยอิ่มสุข สำหรับเด็ก 3 - 6 ปี
Loading...
Date
2024-12-01
ISBN
Journal Title
Journal ISSN
Volume Title
Resource Type
Book
Publisher
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษา ลำปาง
Journal Title
คู่มือสำรับอาหารตามหลักโภชนาการปลอดภัย สมวัยอิ่มสุข สำหรับเด็ก 3 - 6 ปี
Authors
Recommended by
Abstract
การพัฒนาเด็กปฐมวัย (อายุ 0-6 ปี) นับเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวางรากฐาน ด้านสุขภาพ กาย จิต และสมอง โดยเฉพาะด้านโภชนาการ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างการเจริญเติบโตและพัฒนาการทุกด้าน โภชนาการที่เหมาะสมจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทั้งด้านร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง และด้านสมองที่มีการเรียนรู้และจดจำที่ดี ในทางกลับกัน โภชนาการที่ขาดสมดุลอาจนำไปสู่ภาวะขาดสารอาหาร โรคอ้วน และปัญหาด้านสุขภาพเรื้อรังต่าง ๆ
โภชนาการที่เหมาะสมสำหรับเด็กในช่วงปฐมวัยมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาศักยภาพทางสติปัญญาและอารมณ์ การได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนเพียงพอในปริมาณที่เหมาะสมกับวัยจะช่วยเสริมสร้างระบบประสาทและสมองให้แข็งแรง ทำให้เด็กมีสมรรถภาพในการเรียนรู้และพัฒนาการคิดวิเคราะห์ที่ดี การบริโภคอาหาร ที่หลากหลายทั้งในด้านชนิดและปริมาณที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึง ทั้งนี้ อาหารที่เหมาะสมจะประกอบด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างการเจริญเติบโต
จากการศึกษาวิจัยพบว่า เด็กที่ได้รับการดูแลเรื่องโภชนาการอย่างถูกต้องมีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพ ที่แข็งแรง และมีพัฒนาการทางสมองที่ดีกว่าเด็กที่ขาดสารอาหาร (UNICEF, 2021; WHO, 2020) นอกจากนี้ การส่งเสริมพฤติกรรมการกินอาหารที่ดีตั้งแต่เด็กยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพในอนาคต เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอ้วน การสร้างพื้นฐานการบริโภคที่ดีในวัยเด็กจึงเป็นการลงทุนที่สำคัญ ในการส่งเสริมสุขภาพระยะยาว
คู่มือสำรับอาหารตามหลักโภชนาการปลอดภัย สมวัยอิ่มสุข (สำหรับเด็กอายุ 3 - 6 ปี) ฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยสามารถนำความรู้ด้านโภชนาการมาใช้ในการดูแลเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากคุณศุภชัย สุทธิพงษ์ชัย และคุณสงวนศรี สุทธิพงษ์ชัย มีเนื้อหาครอบคลุม
บทที่ 1 โภชนาการกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ประกอบด้วย ความสำคัญของโภชนาการต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย โภชนาการกับการพัฒนาทางสมองและการเรียนรู้
บทที่ 2 ความรู้พื้นฐานด้านโภชนาการสำหรับเด็กปฐมวัย ประกอบด้วยความสำคัญของโภชนาการในวัยเด็ก อาหารหลัก 5 หมู่ และสารอาหาร สารอาหารที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของเด็กวัยเรียน (ธงโภชนาการ) และปัจจัยที่มีผลต่อภาวะโภชนาการของเด็ก
บทที่ 3 แนวทางการออกแบบสำรับอาหารตามมาตรฐานสำหรับเด็กปฐมวัยอายุอายุ 3 - 6 ปีประกอบด้วย มาตรฐานการจัดอาหารกลางวันและอาหารเสริมระหว่างมื้อสำหรับเด็ก ปริมาณสารอาหารตามความต้องการประจำวันของเด็กแต่ละช่วงอายุ การกำหนดมาตรฐานปริมาณวัตถุดิบอาหาร ตัวอย่างสำรับอาหารสำหรับเด็กปฐมวัย และการวิเคราะห์คุณค่าทางอาหารและโภชนาการ
บทที่ 4 พฤติกรรมการบริโภคอาหารของเด็กปฐมวัย ประกอบด้วย การประเมินภาวะโภชนาการเด็กปฐมวัย หลักการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคอาหารของเด็กปฐมวัย บทบาทของครูผู้ดูแลเด็กในการส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคอาหารของเด็กปฐมวัย บทบาทของผู้ปกครองในการส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคอาหารของเด็กปฐมวัย และเทคนิคการส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคอาหารของเด็กปฐมวัย
คณะผู้จัดทำหวังว่าคู่มือฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประสิทธิภาพของการสร้างโภชนาการทางด้านอาหารที่มีคุณภาพแก่เด็กปฐมวัย เพื่อประโยชน์ต่อเนื่องในการเสริมเติมศักยภาพทางร่างกายและจิตใจของเด็กปฐมวัยอย่างเต็มที่ เป็นแหล่งข้อมูลที่มีคุณค่าในการส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ดีและ
ช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่แข็งแรง สนับสนุนการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่สมวัยของเด็ก ช่วยให้ผู้ปกครองและผู้ดูแลมีแนวทางในการจัดเมนูอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนตามหลักโภชนาการ ช่วยให้เด็กได้รับพลังงานและสารอาหารที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย ลดความเสี่ยงต่อภาวะขาดสารอาหารและโรคอ้วน โดยรายละเอียดของคู่มือได้ให้ข้อมูลเพื่อแนะนำปริมาณอาหารที่เหมาะสมในแต่ละมื้อและประเภทอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ให้แนวทางการส่งเสริมพฤติกรรมการกินที่ดี เช่น การเลือกอาหารที่ปลอดภัยและมีประโยชน์ การกินอาหารหลากหลาย ซึ่งช่วยให้เด็กซึมซับพฤติกรรมที่ดีและมีทัศนคติที่ดีต่อการกินอาหาร ให้ความรู้และแนวทางในการเลือกอาหารปลอดภัย ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกวัตถุดิบที่สะอาด ปลอดภัย และวิธีการปรุงอาหารที่เหมาะสม ช่วยลดความเสี่ยงของการได้รับสารพิษหรือสารตกค้างในอาหารเสริมสร้างความเข้าใจและทักษะในการจัดเตรียมอาหาร อันจะช่วยให้ผู้ปกครองและผู้ดูแลมีทักษะในการวางแผนและจัดเตรียมอาหารที่เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็ก ส่งผลให้เด็กได้รับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและปลอดภัย ตลอดจนการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวผ่านการรับประทานอาหารร่วมกัน สนับสนุนการสร้างบรรยากาศการรับประทานอาหารร่วมกันในครอบครัว ทำให้เกิดการสื่อสารที่ดี เพราะโภชนการที่ดีเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของสถานศึกษาและครอบครัว
Description
โครงการพัฒนารูปแบบการจัดการอาหารเพื่อส่งเสริมโภชนาการ และสุขภาพฟันของเด็กปฐมวัย (IMSOOK) ซึ่งรับผิดชอบโดย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษา ลำปาง มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการอาหารเพื่อส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพฟันของเด็กปฐมวัยตามบริบทที่มีความหลากหลายกระจายทั่วครบทุกอำเภอในจังหวัดลำปางจำนวน 10 พื้นที่ รวมทั้งเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง ผู้ประกอบการอาหาร เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม ในจังหวัดลำปางที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย เข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการทุกขั้นตอน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก
สมัชชาการศึกษานครลำปาง ในฐานะผู้บริหารโครงการ และผู้รับทุนสนับสนุนจาก คุณศุภชัย สุทธิพงษ์ชัย ต้องขอชื่นชม มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษา ลำปาง ทีมงานคณาจารย์ ผู้วิจัย ที่สามารถดำเนินโครงการและกิจกรรมตามโครงการ เริ่มตั้งแต่การสำรวจข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล วางแผนอบรมพัฒนาองค์ความรู้และลงมือปฏิบัติจริงให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จนกระทั่งโครงการประสบความสำเร็จสถานศึกษาเด็กปฐมวัยมีมาตรฐานการสุขาภิบาลอาหาร ครูและผู้ปกครองมีบทบาทร่วมกันดูแลและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย ตลอดจนการมีส่วนร่วมของชุมชน และโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง ผู้ประกอบอาหาร บุคลากรในโรงเรียน และอีกหนึ่งประการที่สำคัญ คือ จังหวัดลำปางได้ตัวอย่างสำรับอาหารสำหรับเด็กปฐมวัย 10 สำรับ ที่เป็นสำรับอาหารตามหลักโภชนาการ “ปลอดภัยสมวัยอิ่มสุข” ด้วยวัตถุดิบของชุมชนและสอดรับกับบริบทความพร้อมที่หลากหลายในพื้นที่จังหวัดลำปาง
ท้ายนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารูปแบบการจัดการอาหารเพื่อส่งเสริมโภชนาการ และสุขภาพฟันของเด็กปฐมวัยในจังหวัดลำปางทั้ง 10 สำรับ ใน 10 พื้นที่ นี้ จะเป็นประโยชน์ต่อสถานศึกษาเด็กปฐมวัยในจังหวัดลำปางและสามารถขยายผลไปยังสถานศึกษาอื่น ๆ ในพื้นที่จังหวัดลำปาง อันเป็นประโยชน์ที่มากขึ้นและยั่งยืนต่อไป